วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

การเขียนแผนการจัดประสบการณ์ประจำวันระดับปฐมวัยการศึกษา

การเขียนแผนการจัดประสบการณ์ประจำวันระดับปฐมวัยศึกษา

Filed Under (บทความเชิงวิชาการ) by wattana on 06-07-2009

การเขียนแผนการจัดประสบการณ์ประจำวันระดับปฐมวัยศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัฒนา  ปุญญฤทธิ์

แผนการจัดประสบการณ์รายวัน (daily plan) เป็นการวางแผนการสอนรายวันที่ครอบคลุมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กปฐมวัยผ่านการกำหนดกิจกรรมประจำวัน เพื่อให้เด็กปฏิบัติและได้รับประสบการณ์  อันจะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์การศึกษาทั้งด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย

การเขียนแผนการจัดประสบการณ์รายวันจะนำสาระที่ควรเรียนรู้และประสบการณ์สำคัญที่กำหนดเป็นหน่วยบูรณาการ (unit plan)  นำมาออกแบบเป็นแผนการจัดการประสบการณ์รายสัปดาห์ (weekly plan) มาวางแผนการจัดประสบการณ์แต่ละวันในกิจกรรมประจำวัน ซึ่งแผนการจัดประสบการณ์นั้นจะยึดหลักความสอดคล้องกับสาระสำคัญและจุดประสงค์ของหน่วยบูรณาการที่กำหนดไว้ในตอนต้น
หัวข้อของแผนการจัดประสบการณ์รายวัน ประกอบด้วย
ชื่อกิจกรรม
เรื่อง
ระดับชั้นและเวลา
สาระสำคัญ
จุดประสงค์
เนื้อเรื่อง
กิจกรรม
สื่อและแหล่งเรียนรู้
การประเมินผล
บันทึกผลหลังสอน
กิจกรรมสนับสนุน
ทั้งนี้มีรายละเอียดของแต่ละหัวข้อดังต่อไปนี้
ชื่อกิจกรรม ให้ระบุลักษณะของกิจกรรมนั้นว่าเป็นกิจกรรมใด เช่น กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ การระบุชื่อกิจกรรม ทำให้เกิดความชัดเจน ว่ากิจกรรมนั้น มีวัตถุประสงค์การเรียนรู้อย่างใด และจะนำไปสู่การส่งเสริมพัฒนาการด้านใดของผู้เรียน  ทั้งนี้การกำหนดชื่อกิจกรรมทำให้ผู้เขียนแผนสามารถจัดกิจกรรมไปตามหลักการจัดกิจกรรมนั้นๆ และเกิดความชัดเจนว่าผู้เรียนจะได้รับพัฒนาการและเกิดประสบการณ์สำคัญด้านใด เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ด้านการคิด และทักษะพื้นฐานทางการเรียน การสร้างความรู้ ถ้าเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์สำคัญทางกาย เป็นต้น
ชื่อเรื่อง การระบุชื่อเรื่องเป็นการนำหัวข้อเรื่องที่ได้จากการระดมความคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างครูกับผู้เรียนมากำหนดโดยให้สัมพันธ์กับสาระสำคัญของหน่วยบูรณาการ เพิื่อแสดงทิศทางและสาระสำคัญของกิจกรรมที่จะจัดต่อไป
ตัวอย่างเช่น     หน่วยบูรณาการเรื่อง เมล็ดพืช
ชื่อกิจกรรม  เสริมประสบการณ์
เรื่อง  การเพาะเมล็ดถั่วเขียว
ระดับชั้นและเวลา  การระบุระดับชั้นเรียนไว้ในแผนการจัดประสบการณ์  เป็นสิ่งที่แสดงถึงความยาก ง่าย ของกิจกรรมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการและขีดความสามารถของผู้เรียน  และแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพที่มี  ส่วนระยะเวลาจะสัมพันธ์กับลักษณะกิจกรรม และขอบเขตความสามารถในการทำกิจกรรมในช่วงเวลานั้นๆ
ตัวอย่างเช่น  กิจกรรมเสริมประสบการณ์ของเด็กอนุบาลวัย 5 ปี ใช้ระยะเวลาประมาณ 20  นาที  แต่ทั้งนี้ระยะเวลาที่กำหนด ต้องสอดคล้องกับแบบของกิจกรรมนั้นๆด้วย  ถ้ากิจกรรมนั้นออกแบบให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติการ    ทดลอง เช่น การออกแบบให้ผู้เรียนทดลองเพาะเมล็ดถั่วเขียวในกะบะทราย เปรียบเทียบกับการทดลองเพาะใน   กะบะเปล่า โดยใช้ผ้าคลุม การออกแบบกิจกรรมเช่นนี้  อาจต้องใช้เวลาให้เพียงพอกับการปฏิบัติจริง ซึ่งมากกว่าเวลา 20 นาที อาจเป็น 30 – 40 นาที  เป็นต้น
สาระสำคัญ เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนในด้านมโนภาพของเรื่องนั้นๆ หลังจากได้ทำ
กิจกรรมไป  ทั้งนี้การเขียนสาระสำคัญ สามารถเขียนได้ 4  ลักษณะ คือ
1.  การเขียนสาระสำคัญที่อธิบายหรือให้ความหมายของสิ่งที่เรียน
2.  การเขียนสาระสำคัญที่ระบุความเป็นจริงหรือลักษณะ หรือคุณสมบัติของสิ่งที่เรียนหรือสถานการณ์นั้นๆ
3.  การเขียนสาระสำคัญที่ระบุถึงความสำคัญของสิ่งนั้นหรือสถานการณ์นั้นๆ
4.  การเขียนสาระสำคัญที่ระบุถึงประโยชน์หรือการนำไปใช้ของสิ่งที่เรียน
โดยการเลือกเขียนสาระสำคัญจะต้องเลือกวิธีเขียนให้เหมาะสมกับเรื่องและกิจกรรมที่ออกแบบไว้ เช่น เรื่อง “การเพาะเมล็ดถั่วเขียว” การเขียนสาระสำคัญควรจะเลือกเขียนในแบบที่ 2 ที่แสดงถึงลักษณะของสถานการณ์นั้นๆที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนการเพาะเมล็ดถั่วเขียว
จุดประสงค์  การเขียนจุดประสงค์ในแผนการจัดประสบการณ์รายวันนี้  เป็นการกำหนดจุดประสงค์ระดับกิจกรรม ทั้งนี้จะกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมหรือไม่ก็ได้  การเขียนจุดประสงค์จะต้องสอดคล้องกับสาระสำคัญที่ระบุไว้ในตอนต้น  แล้วนำมากำหนดเป็นจุดประสงค์ของการจัดประสบการณ์ในครั้งนี้  ครอบคลุมความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับ  ในด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยหรือทักษะพิสัย ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านแต่ต้องสอดคล้องกับแบบของกิจกรรมและเวลาที่กำหนดไว้  เช่น กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง  จุดประสงค์ก็ควรเป็นจุดประสงค์ที่ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์สำคัญทางกาย  แต่หากกิจกรรมกลางแจ้งนั้น จัดให้เล่นเกมที่มีกติกาประกอบด้วย  จุดประสงค์จะกำหนดเป็นจุดประสงค์ด้านทักษะพิสัย คือ คล่องแคล่วว่องไวของการเคลื่อนไหวร่างกายรวมทั้งจุดประสงค์ทางด้านจิตพิสัย คือ การปฏิบัติตนตามข้องตกลงกติกาในการเล่น เป็นต้น  ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งของการเขียนจุดประสงค์ของการจัดประสบการณ์แต่ละครั้งควรกำหนดจุดประสงค์ที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาและแบบของกิจกรรมที่กำหนดไว้  ไม่ควรกำหนดจุดประสงค์หลายข้อเกินไปเพราะยากที่จะให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาในหลายๆอย่างเกินกว่าจะทำได้ในเวลาที่จำกัด การเขียนจุดประสงค์ที่ดี คือ กำหนดให้ชัดเจน เหมาะกับแบบของกิจกรรม อยู่ในระดับของคุณลักษณะตามวัยของผู้เรียน และสามารถวัดหรือประเมินได้ว่า ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์จากกิจกรรมที่ให้ปฏิบัตินั้น
เนื้อเรื่องหรือสาระการเรียนรู้  เป็นการนำเรื่องที่กำหนดไว้มาให้รายละเอียดที่ครอบคลุมสาระสำคัญที่ระบุไว้  การเขียนส่วนของเนื้อเรื่องต้องมีความง่าย ชัดเจน และเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งครูจะต้องมีความรู้ในสิ่งนั้นๆ  และนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาที่สื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้เรียนได้เหมาะสม  การเขียนเนื้อเรื่องจะไม่มากจนกลายเป็นการสอนเนื้อหา แต่ไม่สั้นจนไม่มีสาระเพียงพอที่จะนำไปใช้จัดกิจกรรมได้  การกำหนดเนื้อหาสาระในระดับการศึกษาปฐมวัยนั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นสื่อที่จะนำผู้เรียนไปสู่การปฏิบัติกิจกรรม  เพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้จัดเนื้อหาเพื่อให้ผู้เรียนต้องท่องจำหรือจดจำสาระเนื้อหานั้นๆ สำหรับเนื้อหาที่เป็นสาระที่จะนำไปใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมระดับปฐมวัยนั้น มี 3 ระดับ คือ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง  เนื้อหาที่กระตุ้นหรือสนับสนุนให้เกิดการคิดไตร่ตรองและเนื้อหาที่กลั่นกรองเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ  ดังนั้น การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้สำหรับเด็ก ควรเริ่มจากการกำหนดเนื้อหาที่มาสู่การจัดกิจกรรมให้เด็กได้รู้ เข้าใจถึงความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ เพื่อเป็นพื้นฐานก่อนที่จะเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป
กิจกรรม เป็นการกำหนดสิ่งที่ได้วางแผนร่วมกับผู้เรียน  ให้ผู้เรียนปฏิบัติได้รับประสบการณ์ที่นำไปสู่ผลที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์  การกำหนดกิจกรรมมีจุดเน้นที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม และได้เรียนในสิ่งที่สนใจ  ดังนั้น การออกแบบกิจกรรมครูจะต้องมีการเตรียมการทั้งด้านวิธีการ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม การกำหนดกิจกรรมจะมี 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นนำ  เป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียนสิ่งใหม่  โดยการสร้างความสนใจและความต้องการให้ผู้เรียนอยากรู้หรือต้องการที่จะเรียน  รวมทั้งการตรวจสอบประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
ขั้นทำกิจกรรม เป็นการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามที่ออกแบบไว้  โดยครูจะใช้เทคนิคการกระตุ้น สนับสนุน และเสริมแรง  ให้ผู้เรียนทำกิจกรรมจนจบ และเกิดผลการเรียนรู้
ขั้นสรุป เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนร่วมกันสรุปถึงผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับสาระสำคัญที่ระบุไว้  อันแสดงถึงผลการจัดประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับ
สื่อและแหล่งเรียนรู้  การกำหนดสื่อและแหล่งเรียนรู้ต้องเป็นไปตามที่ออกแบบกิจกรรมไว้และหากเป็นสื่อที่ใช้ประกอบการปฏิบัติ  จะต้องมีปริมาณที่เพียงพอกับผู้ปฏิบัติ  กรณีที่ใช้แหล่งเรียนรู้  จะต้องระบุรายละเอียดของแหล่งเรียนรู้ให้ชัดเจน
การประเมินผล  เป็นการระบุวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ประเมินผลผู้เรียนที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในตอนแรก  เช่น กำหนดจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการสังเกต ของผู้เรียน การประเมินผลจะใช้วิธีประเมินโดยการสังเกตพฤติกรรมขณะที่ทำกิจกรรมของผู้เรียน  ส่วนเครื่องมือคือแบบสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน  เป็นต้น
บันทึกผลหลังสอน  เป็นการบันทึกใน 2 ลักษณะ คือ บันทึกผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนถึงการทำกิจกรรมและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ส่วนอีกลักษณะหนึ่งเป็นการบันทึกผลการปฏิบัติของผู้สอนถึงการใช้แผนการจัดประสบการณ์ว่ามีปัญหาอุปสรรคใดหรือไม่  เพื่อนำไปปรับปรุงแผนการจัดประสบการณ์ในครั้งต่อไป
กิจกรรมสนับสนุน  ในบางเรื่องการทำกิจกรรมอาจไม่สิ้นสุดในเวลาที่กำหนด  หรือมีเรื่องที่น่าสนใจเพิ่มเติม  หรือต้องการให้ผู้เรียนได้มีกิจกรรมต่อเนื่อง  อาจกำหนดกิจกรรมสนับสนุนเพิ่มเติมได้อีก
จะเห็นได้ว่า  การเขียนแผนการจัดประสบการณ์นั้น  มีจุดเน้นในเรื่องของความสอดคล้องสัมพันธ์กันในทุกส่วน  การสอนที่ดีนั้น  นอกจากผู้สอนจะเลือกกลยุทธ์การจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมแล้ว  การเขียนแผนการจัดประสบการณ์ล่วงหน้าที่ดี  จะช่วยให้สามารถจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้อย่างราบรื่น และเกิดผลตามที่กำหนดไว้
…………………………………………………………
เอกสารอ้างอิง
วรนาท รักสกุลไทย.(2547). ประมวลสาระขุดวิชาการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย.หน่วยที่ 6 . นนทบุรี :             สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
วัฒนา  ปุญญฤทธิ์. (2552). การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย.กรุงเทพฯ : วิทยาลัยการฝึกหัดครู.
Warner,L.and J.Sower.(2005) Educating young children from preschool through primary grade.
New York : Pearson Education, Inc.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น